การผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท
(Surgery for Lumbar Spondylolisthesis)
เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายช่องโพรงไขสันหลัง (Decompression) ดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ (Reduction) และ ใส่อุปกรณ์น๊อตโลหะเพื่อเชื่อมข้อ (Pedicle Screws and Rods with Bone graft)
ข้อบ่งชี้
ผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง หรือปวดขามาก หลังจากรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเริ่มมีขาอ่อนแรง
ยังคงพอจำกันได้ ว่าผมเปรียบกระดูกสันหลังเหมือนท่อน้ำ และเส้นประสาทเหมือนสายไฟที่วิ่งในท่อน้ำ แต่กระดูกสันหลังของคนเรามีหลายข้อเหมือนกับแบ่งท่อน้ำเป็นหลายๆปล้องแล้วนำมาเรียงต่อกัน ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) คือภาวะที่กระดูกสันหลังข้อบนเคลื่อนไปทางด้านหน้าบนกระดูกข้อล่าง เหมือนปล้องท่อน้ำแยกเคลื่อนออกจากกันและไม่เรียงในแนวเดียวกัน ทำให้ช่องภายในท่อน้ำแคบลง และพื้นที่ของเส้นประสาทภายในท่อลดลงเกิดการกดทับเส้นประสาท

ภาพX rayแสดงภาวะโรคกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท ข้อL4/5

ภาพMRI scanแสดงภาวะโรคกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท ข้อL4/5 ทำให้ช่องโพรงภายในกระดูกสันหลังส่วนล่างแคบลงอย่างมาก
วิธีการผ่าตัด
ผ่าตัดเข้าทางด้านหลัง แผลผ่าตัดจะเป็นแผลแนวตั้ง ขนาดของแผลขึ้นอยู่กับจำนวนข้อที่มีปัญหาและต้องผ่าตัดแก้ไข เมื่อเปิดแผลผ่าตัดจะเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อ ทำการแยกชั้นกล้ามเนื้อออกจากกระดูกสันหลัง และเข้าถึงกระดูกสันหลัง ผ่าตัดเปิดหลังคาของกระดูกสันหลัง เพื่อขยายช่องโพรงกระดูกสันหลัง จากนั้นใส่อุปกรณ์น๊อตโลหะเข้ากับกระดูกสันหลังแต่ละข้อ แล้วดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ (Reduction) ยึดด้วยโลหะให้แข็งแรง

แสดงภาพการใส่อุปกรณ์น๊อตโลหะเข้ากับกระดูกสันหลังแต่ละข้อ
หลังจากนั้น ทำการเชื่อมกระดูกสันหลังแต่ละข้อเข้าด้วยกัน ให้เชื่อมติดเป็นชิ้นเดียวกัน ขั้นตอนนี้อาจใช้ กระดูกจากสะโพกของผู้ป่วยเองก็ได้ (แต่ต้องเจ็บแผลเพิ่มอีก 1 แผลบริเวณสะโพก) หรือใช้กระดูกเทียม (มีหลายแบบ) ก็ได้ ข้อดีของการใช้กระดูกของตัวเอง (จากกระดูกสะโพก) คือ กระดูกติดเร็ว, ประหยัด ข้อดีของกระดูกเทียม คือ ไม่เจ็บแผลผ่าตัดอีก 1 แผล แต่ข้อเสีย คือ ราคาสูงกว่า และกระดูกอาจติดช้ากว่า
ระยะพักฟื้น
ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาล หลังผ่าตัดประมาณ 4-5 วัน เมื่อกลับบ้านแล้วสามารถ นั่ง-ยืน-เดิน ได้ แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือมีผู้ดูแลเวลาเดินไป-มา สามารถเริ่มกลับไปทำงานเบาๆได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด กระดูกที่ทำการเชื่อมไว้จะติดสมบูรณ์ประมาณ 3-6 เดือน หลังผ่าตัด เพราะฉะนั้นไม่ควรก้ม-เงย, ยกของหนัก, เอี้ยวตัว, นั่งที่ต่ำๆ ในช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด
ปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท
(Surgery for Lumbar Spondylolisthesis)
1. หลังผ่าตัดอาการปวดไม่ดีขึ้น พบได้ประมาณ 10-15%
2. หลังผ่าตัดกระดูกไม่เชื่อมติดกัน และต้องผ่าตัดใหม่ ประมาณ 5%
3. ติดเชื้อ พบได้ 2-3%
4. อุปกรณ์โลหะหลุดหรือหัก พบได้ประมาณ 1-2%
5. เส้นประสาทบาดเจ็บ จากการผ่าตัด พบได้ประมาณ 1%
6. หมอนรองกระดูกสันหลัง ข้อถัดไปเสื่อมมากขึ้น พบได้ 20-30% ใน 10 ปี
7. ถุงหุ้มเส้นประสาทฉีกขาด ขณะผ่าตัด พบได้ 1-2%
8. ผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ พบได้น้อยกว่า 1%
คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวเคลื่อนเคลื่อนทับเส้นประสาท
(Surgery for Lumbar Spondylolisthesis)
1. หลังผ่าตัดระยะยาว ต้องผ่าตัดนำอุปกรณ์โลหะออก?
ตอบ ไม่จำเป็นครับ ยกเว้นในคนไข้ที่ผอมมากๆ และบางครั้งปวดจากโลหะที่นูนและตึงได้ ในกรณีนี้ อาจผ่าตัดเอาออกได้ ในคนทั่วๆไป จะไม่รู้สึกว่ามีโลหะอยู่ที่หลังครับ
2. หลังผ่าตัดเวลาเดินทางไปสนามบิน เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะเครื่องจะร้องหรือไม่?
ตอบ ไม่ร้องครับ เครื่องจะไม่สามารถตรวจจับโลหะขนาดเล็กที่ฝังในร่างกายได้
3. ถ้ามีปัญหาปวดหลังอีกหลังจากผ่าตัด จะยังคงเข้าเครื่อง MRI Scan ได้?
ตอบ ได้ครับ เพราะเหล็กยึดติดแน่นกับกระดูก สามารถเข้าเครื่อง MRI Scan ได้ แต่ความชัดเจนของภาพถ่ายอาจลดลง ขึ้นอยู่กับชนิดของโลหะที่ใช้ทำอุปกรณ์ เช่น ถ้าเป็นโลหะไททาเนียมจะรบกวนคลื่นจากเครื่อง MRI Scan น้อยกว่าโลหะอลูมิเนียมจึงให้ภาพที่คมชัดมากกว่า
4. สามารถผ่าตัดด้วยเลเซอร์ได้?
ตอบ ในการผ่าตัดโรคนี้ ไม่สามารถใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัดได้ครับ
5. อาหารอะไรที่ควรงดรับประทานหลังผ่าตัด?
ตอบ ไม่มีอาหารที่ห้ามครับ สามารถทานอาหารได้ทุกประเภทแต่ควรจะงดการสูบบุหรี่ เนื่องจาก จะทำให้กระดูกที่เชื่อมไว้ติดช้าลงครับ
6. หลังผ่าตัดจะเกิดโรคปวดหลัง จากกระดูกทับเส้นหรือกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวเคลื่อนได้อีกหรือไม่ในอนาคต?
ตอบ โดยปกติกระดูกสันหลังของคนเรามีหลายข้อ ข้อที่ผ่าตัดใส่อุปกรณ์โลหะไปแล้วจะไม่มีปัญหาอีก แต่อาจจะมีปัญหาในข้อที่อยู่ถัดไปได้ โดยปกติจะพบว่า หมอนรองกระดูกสันหลังในข้อถัดไปจะเสื่อมเร็วขึ้นกว่าปกติ ในกลุ่มที่ผ่าตัดเชื่อมข้อเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยผ่าตัด พบว่าอัตราประมาณ 2-3%ต่อปี หรือ
20-30%ต่อ 10 ปี